กันซึมดาดฟ้า
Category

ระบบกันซึมแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

ระบบกันซึมเป็นอีกระบบที่ขาดไม่ได้ในงานก่อสร้าง เพราะมีความสำคัญต่อระบบภายในอาคารเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกันซึมดาดฟ้า เพื่อป้องกันน้ำรั่วซึมจากฝนรวมถึงความร้อนจาก กันซึมดาดฟ้า แล้วยังรวมไปถึงกันซึมผนัง กันซึมพื้นผิวที่สำคัญต่อภายในอาคารทั้งสิ้น มาดูกันว่ากันซึมนั้นมีกี่แบบ อะไรบ้าง และดีเสียต่างกันอย่างไร

กันซึมแบบผสมในคอนกรีต

ใช้เทเป็นโครงสร้างหรือเอามาฉาบผิวเพื่อกันซึม แต่สำหรับที่มักพูดกันหรือเขียนในแบบก่อสร้างว่า “คอนกรีตผสมน้ำยากันซึม” ตัวนั้นเป็นแค่เคมีที่ช่วยลดน้ำในคอนกรีตเพื่อหวังผลให้น้ำในคอนกรีตน้อยลงจนทำให้คอนกรีตหนาแน่นมากขึ้น แล้วจะกันน้ำได้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงใช้งานไม่ได้เพราะป้องกันน้ำซึมไม่ได้เลย จึงไม่แนะนำให้ใช้ระบบนี้

ส่วนที่ใช้งานได้ดีคือการใช้สารประเภท Crystalline ที่เมื่อผสมในคอนกรีตแล้วจะทำให้คอนกรีตทำปฏิกิริยากับน้ำจนก่อเป็นผลึกขนาดจิ๋ว อุดตามช่องว่างภายในคอนกรีตจนสนิท ทำให้คอนกรีตทึบน้ำจนกันน้ำกันซึมได้ดี ระบบนี้ใช้ได้ทั้งแบบใช้ผสมในคอนกรีตก่อนเทหรือพ่นที่ผิวคอนกรีตก็ได้

ข้อดีของระบบนี้คือ ทำงานง่าย ราคาถูก แต่มีข้อเสียคือควบคุมคุณภาพยากเพราะสารเคมีนี้ใสมากและไม่มีสี ทำให้ยากที่จะตรวจสอบว่าพ่นหรือผสมในคอนกรีตแล้วหรือไม่ และผสมในปริมาณที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้ได้กับคอนกรีตเท่านั้น ใช้กับวัสดุอื่น เช่น โลหะ กระเบื้อง ปูนฉาบ ไม่ได้เลย

แบบเหลวใช้ทา หรือ Liquid Applied

มีลักษณะเป็นของเหลวใช้ทาหรือพ่นที่ผิวที่ต้องการใช้กันซึม จะป้องกันคอนกรีตไม่ให้โดนความชื้นหรือสารเคมีจากด้านนอก สมัยก่อนนิยมใช้เป็นสารพวกยางมะตอย แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเพราะเมื่อโดนแดดจะเสื่อมสภาพเร็วมาก สารเคมีที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นประเภทโพลียูรีเทน เช่น โพลียูเรีย

ข้อดีคือทำงานง่าย ทนต่อสารเคมี ตรวจสอบได้ง่ายว่าบริเวณไหนทำกันซึมแล้วหรือยัง ข้อเสียคือราคาแพงกว่าแบบแรก และตอนทำงานพื้นที่ต้องแห้งสนิท ใช้ทำกันซึมบริเวณห้องใต้ดินไม่ได้เพราะเป็นการทำที่ผิวด้านนอก ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะสำหรับตรวจสอบความหนาของผิวกันซึม ว่าทาหรือพ่นได้ตามที่กำหนดแล้วหรือยัง

แบบแผ่น หรือ Sheet Membrane

เป็นการนำแผ่นกันซึมมาติดตั้งบนพื้นผิวด้วยหมุด กาว หรือความร้อน วัสดุที่ใช้ทำมีหลากหลายมาก เช่น บีทูแมน พีวีซี ทีพีโอ อีพีดีเอ็ม ฯลฯ

ข้อดีคือ แน่ใจว่าติดตั้งแล้วจะได้ความหนาของระบบกันซึมเท่ากันทั้งหมด เพราะเป็นแผ่นที่ผลิตมาจากโรงงาน ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของงานได้ง่าย เพราะเห็นสภาพหน้างาน มีหลายสีให้เลือก ทั้งสีขาว เทา ดำ

ข้อเสียคือ รอยต่อและจุดยึดเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้น้ำรั่วซึมเสมอ ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและฝีมือสูงมากในการติดตั้ง โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อและการเข้ามุม ถ้าอาคารหรือบ้านที่มีรูปเหลี่ยมมุมมากๆ ไม่แนะนำระบบนี้ อีกทั้งถ้ามีการรูเจาะภายหลังจะซ่อมแซมยาก